วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559

รณีตัวอย่างการใช้มาตรา 14(1) ฟ้องคดีหมิ่นประมาทที่กระทบต่อบรรรยากาศเสรีภาพ
 
16 ธันวาคม 2556 กองทัพเรือแจ้งความดำเนินคดีกับ อลัน มอริสัน และชุติมา สีดาเสถียร นักข่าวจากเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน สำนักข่าวระดับท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ต จากการเผยแพร่ข่าวบนเว็บไซต์ phuketwan.com อ้างอิงรายงานของรอยเตอร์ กล่าวหาว่าทหารเรือมีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับผลประโยชน์จากขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา จะมีการนัดสืบพยานในเดือนมีนาคม 2558 
 
4 กุมภาพันธ์ 2556 บริษัท เนเชอรัล ฟรุต เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง อานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยด้านสิทธิแรงงาน จากการที่เขาเผยแพร่งานวิจัยเรื่อง การละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในโรงงานผลไม้กระป๋อง เนื้อหาของงานวิจัยมีเรื่องการจ้างแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ด้วยค่าจ้างที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด รายงานวิจัยของเขาถูกสื่อเผยแพร่ไปในอินเทอร์เน็ต เขาจึงถูกฟ้องเป็นคดีพ.ร.บ.คอมพิเตอร์ฯ นอกจากนี้เขายังถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งอีกด้วย
 
สงคราม ฉิมเฉิด เป็นพนักงานของบริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊ส และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน กลางปี 2553 สงครามถูกผู้บริหารของบริษัทฟ้องว่าเป็นผู้ส่งอีเมลกล่าวหาผู้บริหารระดับสูงว่าห้ามเขาเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพแรงงาน ต่อมาคดีมีการไกล่เกลี่ยยอมความ นายจ้างถอนฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท แต่ข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ถอนฟ้องไม่ได้ สงครามจึงต้องต่อสู้คดีต่อไป ต่อมาศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ส่งอีเมล์จริง
 
ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป แห่งประเทศไทย แจ้งความดำเนินคดีกับ ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ จากการโพสต์ข้อมูลและรูปภาพลงเฟซบุ๊กเกี่ยวกับความผิดพลาดในการรักษาพยาบาล 29 เมษายน 2554 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร จ.สุรินทร์ ออกหมายเรียก ปรียานันท์ต้องเดินทางไปจ.สุรินทร์เพื่อให้ปากคำ ต่อมาอัยการสั่งไม่ฟ้อง
 
13 กันยายน 2556 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดย นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการสหกรณ์ฯ ยื่นฟ้องนายมณฑล กันล้อม ประธานกรรมการดำเนินการฯ สหกรณ์และพวกรวม 6 คน ซึ่งรวมถึงกองบรรณาธิการของสำนักข่าวไทยพับลิก้า จากการเผยแพร่บทความเกี่ยวกับการทุจริตภายในสหกรณ์ ต่อมา 2 มิถุนายน 2557 โจทก์ถอนฟ้อง
 
13 มิถุนายน 2556 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจเผยแพร่บทสัมภาษณ์ที่กล่าวถึงความเสียหายของประเทศหากให้บริษัททุนข้ามชาติสามารถจดโดเมนเป็น .thai ต่อมาผู้ให้สัมภาษณ์และบรรณาธิการเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจถูกบริษัท เบ็ทเทอร์ ลิฟวิ่ง แมนเนจเมนท์ จำกัดที่ถูกพาดพิงฟ้อง คดียังอยู่ระหว่างการการไต่สวนมูลฟ้อง
 
4 กันยายน 2555 ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในพัทยาสองคนยื่นฟ้อง แอนดรูว์ ดรัมมอนด์ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศและเจ้าของเว็บไซต์ จากการปล่อยให้มีคนคอมเมนต์ในเว็บไซต์กล่าวหาโจทก์ว่ามีพฤติกรรมเป็นแมงดา ศาลพิพากษาว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทให้จำคุก 4 เดือน ปรับ 40,000 บาท ยกฟ้องข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะพิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยรู้ว่าข้อความเป็นเท็จ
 
ฝนทิพย์ วัชตระกูล หรือ ปุ๊กลุ๊ก อดีตมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สปี 2553 ยื่นฟ้องเว็บไซต์ไทยเดย์ดอทคอม ในเครือผู้จัดการ จากการเผยแพร่คอลัมน์ Super บันเทิง Online กล่าวหาโจทก์ว่ามีความประพฤติไม่ดี ไม่เหมาะกับการเป็นกุลสตรีไทย ศาลพิพากษาว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทปรับจำเลยที่หนึ่ง 200,000 บาท จำคุกจำเลยที่สอง 2 ปี และปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา ให้ทำลายข้อความในเว็บไซต์ และให้ชดใช้ค่าเสียหาย ยกฟ้องข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 
เอกสิทธิ์ วันสม ประธานบอร์ดบริหารทีโอที ฟ้องว่า วันที่ 30 พฤษภาคม 2554 เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์เผยแพร่ข่าว ทำนองว่า โจทก์ในฐานะประธานบอร์ดบริหารกับประธานการประเมินกรรมการผู้จัดการใหญ่เข้าแทรกแซงสั่งการในการปรับโครงสร้างผังองค์กร และเข้าไปมีผลประโยชน์หักค่าหัวคิวเก็บค่าคอมมิชชั่นในโครงการต่างๆ 17 ตุลาคม 2554 โจทก์ถอนฟ้อง บทความถูกเอาออกแล้ว
 
25 สิงหาคม 2557  ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง มอบหมายให้ทนายความ ฟ้องร้องสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย, นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศราฯ และนายเสนาะ สุขเจริญ บรรณาธิการสำนักข่าวอิศราฯ จากการเสนอข่าว "จดหมายน้อย" เกี่ยวกับการที่ประธานศาลปกครองพยายามใช้เส้นแต่งตั้งนายตำรวจ

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559

มาตรา 14 นำเข้า/ปลอม/เท็จ/ภัยมั่นคง/ลามก/ส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์

มาตรา 14 นำเข้า/ปลอม/เท็จ/ภัยมั่นคง/ลามก/ส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  1. นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์   ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน   หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์   อัน เป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
  2. นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ  โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
  3. นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด  ๆ   อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร   หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
  4. นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ  ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชน   ทั่วไปอาจเข้า ถึงได้
  5. เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)